ลำดับเหตุการณ์ ของ พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008

การแสดงต้อนรับ

พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นที่การแสดงกลองฟูโดยนักแสดงชาย 2,008 คน[13] โดยที่กลองฟูทุกอันมีจอแอลอีดีขนาดเล็กฝังไว้กับหน้ากลอง และจะเรืองแสงเมื่อผู้แสดงเอามือแตะไปที่แป้นเหนือหน้ากลองนั้น นอกจากนี้ยังมีไม้ตีกลองสีแดงที่เรืองแสงในที่มืดชุดละ 1 คู่ ด้วย การแสดงกลองฟู เริ่มจากการแปรเป็นทรงเรขาคณิต เมื่อถึงเวลา 60 วินาที ก่อนพิธีเปิดจะเริ่ม นักแสดงจะแปรเป็นเลขอารบิก เพื่อนับถอยหลังทุก 10 วินาที และเมื่อถึง 10 วินาทีสุดท้าย จะเพิ่มการแปรอักษรเป็นเลขจีนด้วย และเพิ่มความถี่เป็น 1 วินาทีต่อครั้ง [14][15] เมื่อนับถอยหลังและมีการจุดพลุไฟแล้ว นักแสดงแสดงท่าทางเพื่อแสดงความแข็งแรงและความอ่อนช้อยพร้อมกัน จากนั้นจะใช้ไม้กลองเพื่อตีให้เกิดจังหวะ และในช่วงท้ายมีการดับไฟฟ้าในสนามเพื่อใช้เทคนิคเรืองแสงของไม้กลอง

จากนั้น พลุรูปรอยเท้า จำนวน 29 ดอก ถูกจุดขึ้นด้วยความถี่ 1 วินาทีต่อดอก เคลื่อนจากใจกลางของกรุงปักกิ่งมายังสนาม [16] โดยพลุแสดงถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีมาแล้ว 28 ครั้ง และดินปืนซึ่งคิดค้นโดยชาวจีน เมื่อพลุรอยเท้าดอกที่ 29 ถูกจุดเหนือสนาม พลุสายธารก็ถูกจุดจากขอบหลังคาสนามลงมาถึงพื้นสนาม และรวมตัวกันเป็นห่วงโอลิมปิกจากพื้นลอยขึ้นกลางอากาศ[17] ร่วมกับผู้แสดงเป็นนางฟ้า 20 คนที่ลอยกลางสนาม

หลังจากนั้นเป็นพิธีเชิญธงชาติจีนขึ้นสู่ยอดเสา โดยเด็ก 56 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของชนเผ่าต่างๆ ในจีนได้เดินนำธงส่งให้แก่ทหารแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนผู้เชิญธง โดยระหว่างนั้น หลิน เมี่ยวเข่อ เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ได้ขับร้องเพลง ลำนำเพื่อมาตุภูมิ ด้วย[18] จากนั้น ธงชาติจีนได้ขึ้นสู่ยอดเสา โดยมีคณะนักร้องประสานเสียง 224 คน ร้องนำเพลงชาติจีน

การแสดงเปิดการแข่งขัน

การแสดงเปิดการแข่งขันชุดแรก เป็นภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับวิธีการทำกระดาษ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นโดยชาวจีนอีกอย่างหนึ่ง จากนั้น ม้วนกระดาษขนาดใหญ่ก็ปรากฏกลางสนามพร้อมกับคลี่ออกอย่างช้าๆ และฉายภาพเครื่องถ้วยโบราณของจีน ส่วนตรงกลางของม้วนกระดาษเป็นผืนผ้าใบซึ่งมีนักแสดงที่แต่งชุดดำและทาหมึกไว้ทั่วตัวกลิ้งตัวไปมาเป็นรูปท้องฟ้า ภูเขา และดวงอาทิตย์ สื่อให้เห็นถึงการเขียนภาพด้วยหมึกจีน[19] ต่อมา เมื่อผืนผ้าใบถูกยกขึ้นแล้ว พื้นที่เดิมมีผืนผ้าใบก็แยกออก และมีนักแสดงจำนวน 897 คน ถือบล็อกอักษรจีนที่ไม่ซ้ำกัน และแปรอักษรเป็นคำว่า 和 (การประสานสามัคคี) ในสามรูปแบบ คือ จารึกทองแดง ตราประทับโบราณ และอักษรซ่งตี้ แสดงให้เห็นถึงการคิดค้นและพัฒนาอักษรจีน นอกจากนี้ นักแสดงจำนวน 810 คน ที่แต่งชุดแสดงถึงลูกศิษย์ของขงจื้อ (Rujia) ในยุคราชวงศ์ฮั่น (ร่วมสมัยกับยุคสามก๊ก) โดยสวมหมวกขนนกและถือม้วนหนังสือไม้ไผ่ ได้วิ่งออกมาจากข้างสนาม พร้อมกับเสียงท่องปรัชญาของขงจื้อสองวรรค คือ "เป็นการดีมิใช่หรือที่จะมีมิตรจากแดนไกล" และ "มนุษย์ทั้งหลายคือพี่น้องจากทะเลทั้งสี่" ส่วนเหล่าบล็อกอักษรจีนได้แปรเป็นรูปกำแพงเมืองจีน และมีดอกท้อบานจากบล็อกเหล่านั้น แสดงถึงความซื่อสัตย์ซึ่งเป็นคุณลักษณ์สำคัญของชาวจีน เมื่อนักแสดงโผล่จากบล็อกอักษรจีนเพื่อทักทายแก่ผู้ชมแล้ว นักแสดงอีกชุดที่สวมชุดสีน้ำตาลแดงคล้ายนักรบโบราณ[20] พร้อมด้วยการแสดงงิ้วและหุ่นละครเล็กแบบปักกิ่งก็เคลื่อนสู่สนาม พร้อมด้วยการเพิ่มลายเส้นบนผืนผ้าใบ ประกอบการบรรเลงด้วยกู่เจิ้ง (guqin)

จากนั้น เป็นการแสดงในชุด เส้นทางสายไหม โดยมีนักแสดงหญิงเต้นบนผืนผ้าใบ โดยมีนักแสดงชายกว่าร้อยคนประคองผืนผ้าไว้ด้านล่าง จากนั้น นักแสดงชายอีกชุดที่สวมชุดสีน้ำเงิน ถือไม้พายเรือ ซึ่งใบพายสามารถประกอบกันเป็นรูปเรือสำเภา ได้แสดงท่าพายเรือ แสดงถึงการเดินทางของเจิ้งเหอหรือซำปอกง และเข็มทิศโบราณซึ่งเป็นงานประดิษฐ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของชาวจีน

ในช่วงต่อไป เป็นการแสดง kunqu ซึ่งเป็นงิ้วประเภทหนึ่ง มีผู้แสดงชายหนึ่งคน หญิงหนึ่งคน ยืนร้องเพลงบนผืนผ้าใบ จากนั้น เหล่านางระบำในชุดสมัยราชวงศ์ถังก็เข้าสู่สนาม พร้อมกับมีแท่นที่มีนักแสดงชายถือพิณจีน จำนวน 14 แท่น และแท่นเหล่านั้นได้ยกขึ้นเป็นเสาคล้ายเสามังกรในพระราชวังต้องห้าม (huabiao (华表))

หลังจากมีการจุดพลุแล้ว การแสดงในองก์ที่สองก็เริ่มขึ้น โดย หลาง หลาง นักเปียนโนชาวจีน และ หลี่ มู่ซี เด็กหญิงวัย 5 ขวบ[21] ได้ร่วมกันบรรเลงเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่น้ำเหลือง (แยงซีเกียง) พร้อมกันนั้น นักแสดงรอบตัวหลางและหลี่จำนวน 1,000 คน ได้แปรเป็นคลื่นสีรุ้งและนกพิราบ เพื่อแสดงถึงการก้าวสู่ยุคใหม่ของจีน จากนั้น นักแสดงดังกล่าวได้ต่อตัวเป็นรูปสนามกีฬารังนก จากนั้นเด็กหญิงอีกหนึ่งคนได้ลอยเข้าสู่สนามพร้อมกับว่าว และมีแสงกะพริบจากตัวผู้แสดงที่กำลังต่อตัว

การแสดงชุดต่อมา เป็นการแสดงรำไทเก๊ก โดยนักแสดง 2,008 คน สื่อให้เห็นถึงการประสานกันระหว่างมนุษย์กับธาตุทั้งห้าของจีน (ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง) [22] ต่อจากนั้น นักแสดงเด็กที่เคยเชิญธงชาติจีนในช่วงต้นพิธี ได้กลับเข้าสนามโดยสวมชุดลำลอง พวกเขาร้องเพลงและตกแต่งภาพภูเขาและดวงอาทิตย์ที่เป็นหมึกสีดำให้มีสีสันมากขึ้น สลับกับการแสดงไทเก็กรอบผืนผ้าใบนั้น เมื่อผืนผ้าใบถูกยกขึ้นอีกครั้ง ภาพฉากที่ขอบหลังคาสนาม ฉายแสดงนกสีสันสดใส แสดงถึงการเกิดใหม่ และหมายรวมถึงสนามกีฬาแห่งนี้ด้วย

การแสดงชุดสุดท้ายของช่วงนี้ เป็นการแสดงเปิดตัวเพลงประจำการแข่งขัน โดยมีมนุษย์อวกาศลอยกลางสนาม แสดงถึงการสำรวจอวกาศของจีน[23] จากนั้นมีทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 ฟุต หนัก 16 ตัน ปรากฏกลางสนาม มีนักแสดงกายกรรม 58 คนแสดงท่าเดิน วิ่ง ตีลังกา บนพื้นผิวทรงกลมนั้น และพื้นผิวดังกล่าวได้เปล่งแสงคล้ายโคมไฟจีน ช่วงต่อมา หลิว ฮวน นักร้องชาวจีน และซาราห์ ไบรท์แมน นักร้องชาวอังกฤษ ได้ขับร้องเพลง You and Me ซึ่งเป็นเพลงประจำการแข่งขัน [24] ขณะเดียวกัน พื้นผิวทรงกลมได้ฉายภาพการแข่งขันกีฬา และนักแสดงรอบทรงกลม 2,008 คน ได้กางร่มแสดงใบหน้าเด็กจากชาติต่างๆ ที่ยิ้มแย้ม จากนั้น มีการแสดงเต้นรำจากตัวแทนชนเผ่าในจีนเพื่อนำนักกีฬาเข้าสู่สนาม

ขบวนพาเหรดนักกีฬาและเจ้าหน้าที่

การเดินพาเหรดของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ เริ่มต้นที่กรีซเป็นประเทศแรก และประเทศจีนเจ้าภาพเป็นอันดับสุดท้ายตามธรรมเนียมโอลิมปิก ส่วนประเทศอื่นจะเรียงตามลำดับขีดในการเขียนอักษรจีนอย่างง่าย หากอักษรตัวแรกของชื่อประเทศมีจำนวนขีดเท่ากัน จะเทียบขีดของอักษรตัวถัดไป [25]

ขบวนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ เริ่มด้วยหญิงสาวถือป้ายรูปม้วนหนังสือ มีอักษรชื่อประเทศพิมพ์ไว้เป็นภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และจีน ส่วนการประกาศชื่อประเทศ จะประกาศเป็นภาษาทั้งสามตามลำดับ โดยการเดินพาเหรดจะมีการบรรเลงดนตรีพื้นเมืองจากทั้ง 5 ทวีป (เอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา และออสเตรเลีย) ประกอบ และผู้ที่ร่วมในขบวนพาเหรดทุกคนจะเดินผ่านกองเชียร์สาวชาวจีน รวมทั้งกลางสนามจะมีหมึกสีต่างๆ เพื่อให้ผู้ร่วมขบวนเดินผ่านต่อไปยังภาพบนผืนผ้าใบที่เด็กได้เติมสีก่อนหน้านี้ เสมือนกับว่าได้เติมรุ้งบนผืนผ้านั้น

สำหรับขบวนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยได้เดินเข้าสู่สนามเป็นลำดับที่ 145 ต่อจากตูนิเซีย โดยมีวรพจน์ เพชรขุ้ม นักมวยสากลสมัครเล่น เป็นผู้เชิญธงชาติเข้าสู่สนาม ส่วนจีนประเทศเจ้าภาพ มีเหยา หมิง นักบาสเกตบอล เป็นผู้เชิญธงชาติ และหลิน เหา เด็กชายผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ร่วมในขบวน [26][27]

ในขบวนพาเหรด ผู้ชมในสนามจะให้การต้อนรับเป็นพิเศษแก่ชาติที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาราชการ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งปากีสถาน เกาหลีเหนือ อิรัก รัสเซีย[ต้องการอ้างอิง] สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร (เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2012) ออสเตรเลีย และแคนาดา (เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว 2010) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ไม่ได้เดินพาเหรดร่วมกันเหมือนโอลิมปิก 2 ครั้งก่อนหน้า เนื่องด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง [28]

เมื่อนักกีฬาทุกชาติเข้าประจำที่แล้ว พื้นที่ผืนผ้าตั้งอยู่จะถูกยกขึ้น เพื่อเป็นแท่นสำหรับพิธีการต่อไป

พิธีการของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล

นายหลิว ฉี ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวต้อนรับและรายงานเป็นภาษาจีนกลาง จากนั้น นายฌาค ร็อกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล กล่าวต้อนรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ร่วมพิธีเปิด โดยชื่นชมการจัดการแข่งขันของจีน และยังกล่าวให้กำลังใจนักกีฬา ขอให้นักกีฬาทำตามความสามารถของตนอย่างเต็มที่โดยไม่ใช้สารกระตุ้น

จากนั้น นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ตามด้วยการเชิญธงโอลิมปิกโดยนักกีฬาที่มีชื่อเสียงของจีน 8 คน ได้แก่

  • จาง เซี่ยหลิน (เทเบิลเทนนิส)
  • ปัน โดว (นักปีนเขา)
  • เจิ้ง เฟิ่งหรง (กรีฑา)
  • หยาง หยาง (สเก็ตระยะสั้น)
  • หยาง หลิง (ยิงธนู)
  • หมิว เซียงเสี่ยง (ว่ายน้ำ)
  • เซี่ยง หนี่ (กระโดดน้ำ)
  • หลี่ หลิงเหว่ย (แบดมินตัน)

ทั้งแปดคนนำธงส่งให้แก่ทหารเพื่อเชิญสู่ยอดเสา โดยมีเด็ก 80 คน นำร้องเพลงโอลิมปิกเป็นภาษากรีก จากนั้น จาง อี้หนิง นักกีฬาเทเบิลเทนนิส และหวง หลีปิง ผู้ตัดสินยิมนาสติก กล่าวคำปฏิญานตน ตามลำดับ จากนั้นจึงเป็นพิธีการปล่อยนกพิราบ

การจุดไฟในกระถางคบเพลิง

หลังจากพิธีการปล่อยนกพิราบ ซู ไห่เฟิง อดีตนักกีฬายิงปืน เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของจีน ได้นำคบเพลิงโอลิมปิกเข้าสู่สนาม ส่งต่อให้แก่นักกีฬาอีก 6 คน ได้แก่

  • เกา หมิน (นักกีฬาคนแรกของจีนที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเป็นครั้งที่สอง)
  • หลี เสี่ยวช่วง (นักกีฬาคนแรกของจีนที่สามารถคว้าทั้งเหรียญทองโอลิมปิกและรายการชิงแชมป์โลก)
  • ซาน ซูกัง (นักกีฬายกน้ำหนักคนแรกของจีนที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกสองครั้งติดต่อกัน)
  • จาง จุน (อดีตนักกีฬาแบดมินตัน)
  • เฉิน สง (นักกีฬาเทควันโดคนแรกของจีนที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก)
  • ซุน จินฟาง (นักกีฬาวอลเลย์บอลในทีมจีนที่สามรถคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้เป็นครั้งแรก)

ซุนได้ส่งคบเพลิงต่อให้นักกีฬาคนสุดท้าย คือ หลี่ หนิง (นักกีฬายิมนาสติกเจ้าของ 3 เหรียญทอง ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1984 ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา) ซึ่งยืนบนแท่นคล้ายป้อมปราการของกำแพงเมืองจีน จากนั้น สลิงได้ยกตัวหลี่ขึ้นจนสูงเท่ากับขอบหลังคาสนาม และหลี่ได้วิ่งกลางอากาศไปตามความยาวขอบหลังคาด้านในของสนาม ขณะเดียวกันภาพที่ขอบนั้นได้ฉายรูปม้วนกระดาษสีแดงคลี่ออกเป็นภาพบรรยากาศการวิ่งคบเพลิงตั้งแต่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซจนถึงกรุงปักกิ่ง (ครั้งที่สอง) และสิ้นสุดที่จุดที่ตั้งกระถางคบเพลิงพร้อมกับตัวหลี่ หลี่ได้จุดชนวนให้ไฟวิ่งเข้าสู่กระถางคบเพลิงรูปทรงเกลียวม้วนกระดาษสีแดงและเทา ส่วนบนประดับด้วยลายเมฆมงคล

เมื่อคบเพลิงถูกจุดขึ้น ได้มีการจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลอง และการแสดงโดยศิลปินจากจีนและฮ่องกง 2 เพลง คือ เพลง "Stand Up" ขับร้องโดย เฉิน หลง คาเรน ม็อก Han Hong และ Sun Nan และเพลง "Cheering for Life" ขับร้องโดย หลิว เต๋อหัว เซียะ ถิงฟง Joey Yung Wakin Chau Wang Feng และ Sun Yue โดยช่วงการแสดงเพลงทั้งสองนี้นี้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมถ่ายทอดสด

พิธีเปิดการแข่งขันสิ้นสุดเมื่อเวลา 00.09 น. ของวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 23.09 น. ของวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ตามเวลาประเทศไทย ช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 40 นาที

แหล่งที่มา

WikiPedia: พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 http://news.sbs.com.au/worldnewsaustralia/beijing_... http://www.cbc.ca/olympics/story/2008/08/07/olympi... http://en.beijing2008.cn/ceremonies/headlines/n214... http://en.beijing2008.cn/ceremonies/headlines/open... http://en.beijing2008.cn/ceremonies/headlines/open... http://en.beijing2008.cn/ceremonies/n214508163.sht... http://en.beijing2008.cn/news/official/ioc/n214520... http://www.tickets.beijing2008.cn/browse?category=... http://www.chinadaily.com.cn/entertainment/2006-04... http://www.chinadaily.com.cn/olympics/2008-08/09/c...